วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

คดีปราสาทเขาพระวิหาร

                   




                  คดีปราสาทพระวิหาร เป็นความขัดแย้งระหว่างราชอาณาจักรกัมพูชากับราชอาณาจักรไทย ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2501 จากปัญหาการอ้างสิทธิเหนือบริเวณปราสาทพระวิหาร ซึ่งตั้งอยู่ที่ชายแดนไทยด้านอำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ และชายแดนกัมพูชาด้านจังหวัดพระวิหาร เกิดจากการที่ทั้งไทยและกัมพูชา ถือแผนที่ปักปันเขตแดนตามแนวสันปันน้ำของเทือกเขาพนมดงรักคนละฉบับ ทำให้เกิดปัญหาพื้นที่ทับซ้อนของทั้งสองฝ่ายในบริเวณที่เป็นที่ตั้งของตัวปราสาท โดยทั้งฝ่ายกัมพูชาและฝ่ายไทยได้ยินยอมให้มีการพิจารณาปัญหาดังกล่าวขึ้นที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในปี พ.ศ. 2502
คดีนี้ศาลโลกได้ตัดสินให้ตัวปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ด้วยคะแนนเสียง 9 ต่อ 3 ท่ามกลางความไม่พอใจของฝ่ายไทย ซึ่งเห็นว่าศาลโลกตัดสินคดีนี้อย่างไม่ยุติธรรม อย่างไรก็ตาม การตัดสินคดีครั้งนี้ไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องอาณาเขตทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชาในบริเวณดังกล่าวให้หมดไป และยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังต่อมาจนถึงปัจจุบัน
ศาลโลกยืนตามคำพิพากษาคดีเขาพระวิหารปี 2505 ให้กัมพูชามีอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหาร ส่วนเขตแดนให้ไปตกลงกันเอง 2 ประเทศโดยมี UNESCO ดูแล ขณะที่ทูตวีรชัย ชี้ กัมพูชาไม่ได้ในสิ่งที่ร้องขอต่อศาล
  เมื่อเวลา 16.00 น. วันนี้ (11 พฤศจิกายน 2556) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์คณะตุลาการ ศาลโลก ได้ออกนั่งบนบัลลังก์เพื่ออ่านคำพิพากษาคดีเขาพระวิหารแล้ว โดยคณะผู้พิพากษาเริ่มต้นด้วยการกล่าวแสดงความเสียใจต่อการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ของไทย
               ซึ่งหลังจากนั้น ประธานศาลโลก ได้เริ่มต้นอ่านคำพิพากษาคดีที่กัมพูชาได้ยื่นร้องขอให้ศาลโลกตีความคดีดังกล่าวในปี 2554 ตามธรรมนูญศาลโลก ข้อ 60 เรื่องข้อพิพาทในพื้นที่ใกล้บริเวณปราสาทพระวิหาร โดยประธานศาลโลก ระบุว่า ศาลโลกมีมติรับคำร้องขอของกัมพูชาที่จะตีความคำพิพากษาปี 2505 ตามรัฐธรรมนูญศาลโลก ข้อ 60 โดยให้พิจารณาตามแนวปฏิบัติที่ผ่านมา ประกอบกับพยานหลักฐานของแต่ละฝ่าย ซึ่งทำให้ศาลโลก ไม่อาจตีความเกินคำพิพากษาปี 2505 ได้
  และเมื่อย้อนกลับไปดูคำตัดสินปี 2505 พบว่า กรณีนี้เป็นประเด็นเขตอำนาจอธิปไตยมากกว่าการกำหนดเขตแดน โดยที่ศาลโลกมีอำนาจรับพิจารณาเฉพาะข้อที่เป็นเหตุที่ไม่ใช่บทปฏิบัติการ และไม่ได้มีแนบในแผนที่ในคำพิพากษาปี 2505 ประกอบกับการนำเหตุการณ์ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เดินทางเยือนปราสาทพระวิหาร โดยมีทางการฝรั่งเศสให้การต้อนรับ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นการยอมรับดินแดนทางอ้อม อีกทั้ง การที่คู่ความทั้งสองได้ยอมรับแผนที่ภาคผนวก 1 ทำให้แผนที่ภาคผนวก 1 ถูกบรรจุในสนธิสัญญา สำหรับการที่ขอตีความครั้งนี้ กัมพูชาระบุว่า ขอบเขตพื้นที่พิพาทเล็กมาก ขณะที่ศาลโลกเห็นพ้องว่าพื้นที่พิพาทนี้ก็เล็กมากเช่นกัน
                อย่างไรก็ตาม คำพิพากษาปี 2505 ศาลไม่มีหน้าที่ปักปันเขตแดน เนื่องจากเห็นว่า เป็นเรื่องการกำหนดอธิปไตยมากกว่ากำหนดดินแดน ดังนั้น ศาลโลกจึงเห็นว่า สมควรให้ไทยและกัมพูชาดำเนินการหารือกันเอง เพื่อร่วมรักษามรดกโลกแห่งนี้ให้คงไว้
 ทั้งนี้ หลังจากศาลโลกได้อ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น จากนั้น ในเวลา 17.35 น. นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ ได้แถลงข่าวว่า ทั้งสองฝ่ายรู้สึกพอใจกับคำพิพากษาของศาล ซึ่งหลังจากนี้จะไปหารือกับกัมพูชาในคณะกรรมาธิการร่วมฯ ต่อไป พร้อมกับให้ นายวีระชัย พลาศัย ในฐานะหัวหน้าทีมทนายความของฝ่ายไทยได้ชี้แจงต่อ
 โดย นายวีระชัย พลาศัย ทูตไทยที่เป็นตัวแทนไปสู้คดีเขาพระวิหาร ได้กล่าวว่า ศาลได้ตัดสินว่ามีอำนาจพิจารณาตีความตามคำร้องของกัมพูชา อย่างไรก็ตาม กัมพูชาไม่ได้รับในสิ่งที่มาร้องขอต่อศาล คือพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร รวมทั้งพื้นที่ภูมะเขือ กัมพูชาไม่ได้ เพราะศาลไม่ได้ตัดสินเรื่องเขตแดน แต่ได้เน้นว่าเป็นพื้นที่เล็กมาก ๆ ซึ่งขณะนี้กำลังคำนวณอยู่ ส่วนพื้นที่ 1 ต่อ 2 แสนตารางกิโลเมตรที่เป็นปัญหากันอยู่นั้น ศาลไม่ได้ตัดสินว่าผูกพันกับไทย ดังนั้นถือว่าเรื่องนี้มีความสำคัญมาก ๆ
นอกจากนี้ นายวีระชัย ยังระบุด้วยว่า ศาลโลกได้แนะนำให้ฝ่ายไทยและกัมพูชาร่วมกันดูแลเขาพระวิหารในฐานะที่เป็นมรดกโลก